วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โรคเสี่ยงของคุณแม่ในแต่ละระยะครรภ์

ในระหว่างการตั้งครรภ์ของคุณแม่นั้น แม้ทีมแพทย์และพยาบาลของศูนย์สุขภาพสตรีจะให้การดูแลที่ดีเยี่ยมอย่างไร และมารดาเองจะมีความระมัดระวังมากขนาดไหน บางครั้งก็ไม่สามารถเลี่ยงภาวะเสี่ยงบางอย่างได้



ภาวะเสี่ยงของการตั้งครรภ์เกิดได้จากปัจจัยหลายด้าน โดยความเสี่ยงแจเกิดขึ้นได้ตลอดอายุการตั้งครรภ์ คือปัจจัยที่สำคัญจากตัวคนไข้เองที่มักเสี่ยงจากโรคประจำตัวและวัยของคนไข้ ซึ่งหากคนไข้อายุ 35 ปีขึ้นไปก็จะเริ่มมีความเสี่ยง เช่น เสี่ยงที่ลูกอาจจะเป็นดาวน์ซินโดรม อาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเบาหวาน รวมทั้งอาจมีปัญหาระหว่างคลอด เนื่องจากอายุมาก ไม่ค่อยมีแรงเบ่ง ทำให้ใช้เวลาในการเบ่งคลอดนานเกินไป ลูกอาจจะขาดออกซิเจนระหว่างรอคลอดได้ เป็นต้น
กระบวนการในการประเมินโรคเสี่ยงจะเริ่มต้นตั้งแต่ทีมพยาบาลผู้ป่วยนอกรับมารดาตั้งครรภ์เข้ามา จะมีการตรวจร่างกาย คัดกรองภาวะเสี่ยง ถ้ามารดาตั้งครรภ์อยู่ในกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป พยาบาลจะประทับตราในใบฝากครรภ์ว่าเป็น “High risk” จากนั้นจะส่งต่อให้แพทย์ เพื่อตรวจเพิ่มเติม ดูแลเรื่องการรักษา และให้คำปรึกษา เช่น ถ้าพบว่าเป็นเบาหวาน สูติแพทย์จะส่งคนไข้ไปปรึกษาแพทย์ศูนย์เบาหวาน แพทย์จากศูนย์เบาหวานจะคอยดูแลภาวะเบาหวาน สูติแพทย์ดูแลเรื่องการฝากครรภ์ การคลอด หลังจากนั้นจะแจ้งกุมารแพทย์ว่าคนไข้คนนี้เป็นเบาหวาน เพราะเด็กที่ออกมาอาจจะขาดน้ำตาล กุมารแพทย์จะได้เตรียมตัวก่อน หรือกรณีที่ลูกเสี่ยงจะเป็นดาวน์ซินโดรม แพทย์จะคัดกรองภาวะเสี่ยงนี้ โดยแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำตรวจหาโครโมโซมเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 4 เดือนครึ่ง แต่การเจาะน้ำคร่ำก็มีโอกาสที่เด็กในท้องจะขยับไปโดนเข็มและเสียชีวิตได้ จึงขึ้นอยู่กับคนไข้ว่าจะเจาะหรือไม่เจาะก็ได้ โดยปัจจุบันนี้มีนวัตกรรมใหม่ที่สามารถตรวจได้จากเลือดของมารดาแล้ว สามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือน
หรือระหว่างที่ฝากครรภ์หากแพทย์พบความผิดปกติ เช่น น้ำหนักตัวคนไข้ไม่ขึ้น มีเลือดออกผิดปกติ หรือสงสัยเรื่องความผิดปกติของทารก ก็จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำอัลตราซาวน์มาช่วยดูให้ว่ามีอะไรผิดปกติจริงหรือไม่ ซึ่งโรงพยาบาลก็มีเครื่องอัลตราซาวน์ 4 มิติ ที่ช่วยให้ผลการตรวจชัดเจนขึ้น โดยกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ทีมสูติแพทย์ประจำศูนย์ฯ สามารถดูแลได้เป็นอย่างดีร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ
โรคเสี่ยงที่พบบ่อยคือเบาหวานและครรภ์เป็นพิษ ครรภ์เป็นพิษคือการมีภาวะความดันสูงขณะตั้งครรภ์ สามารถเกิดขึ้นเองได้ มักเป็นกับคนไข้ตัวใหญ่ น้ำหนักมาก ซึ่งจะเกิดขึ้นช่วงไตรมาศที่ 3 ถ้าตรวจพบ ต้องเฝ้าระวัง บางคนต้องให้ยาลดความดัน บางคนอาจต้องให้คลอดเพื่อให้โรคหาย ถือเป็นโรคเสี่ยงที่อันตรายที่สุด เพราะถ้าแพทย์รู้ช้า ความดันคนไข้สูงมากๆ จะทำให้ชักได้ และอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก
เมื่อคนไข้ที่มีโรคเสี่ยงเข้ามาเป็นผู้ป่วยใน จะนำเข้ามาที่ห้องรอคลอด พยาบาลจะมีกระบวนการในการติดตามอาการและภาวะเสี่ยงทุกเรื่องที่อาจจะเกิดกับคนไข้ เช่น เรื่องทารกคลอดก่อนกำหนด ภาวะเบาหวาน ฯลฯ ในห้องรอคลอดจะมีเครื่องมือประเมิน สำหรับวางแผนการดูแลเพื่อให้สอดคล้องกับการรักษาของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการยับยั้งคลอด หรือการดำเนินการคลอด โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าคนไข้สามารถคลอดเองได้หรือไม่ หากจำเป็นต้องผ่าคลอดก็จะส่งต่อไปที่ห้องผ่าตัด ให้ทางทีมวิสัญญีแพทย์ ทีมพยาบาลผ่าตัด ได้เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอย่างต่อเนื่อง จากนั้นเมื่อผ่าตัดเสร็จ ข้อมูลจะถูกส่งไปให้ที่วอร์ด เพราะวอร์ดต้องดูแลคนไข้ต่อ ถ้าคนไข้มีภาวะเสี่ยงตกเลือด ก็จะมีข้อมูลส่งต่อมาที่สูติแพทย์ ทีมจะต้องเน้นดูแลเรื่องภาวะตกเลือด เป็นต้น ซึ่งหากแพทย์พบมารดาตั้งครรภ์ที่มีโรคเสี่ยงเหล่านี้ จะนำมาหารือกันในทีม เพื่อหาทางป้องกันในคนไข้รายอื่นๆ ต่อไป โดยจะเรียกทีมนี้ว่า ทีม PCT (Patient Care Team) ทำหน้าที่ทบทวนปัญหาเป็นกรณีศึกษา โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาร่วมด้วย และกรณีเหล่านี้จะมีการรายงานถึงผู้บริหารระดับสูงทุกครั้ง
การประเมินและการดูแลรักษามารดาตั้งครรภ์ที่มีโรคเสี่ยงของโรงพยาบาลเปาโลนั้น เน้นการทำงานเป็นทีม โดยให้ความสำคัญกับการประเมินภาวะเสี่ยงตั้งแต่เริ่มต้น ดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ โดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์และทีมพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทาง มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่พร้อมและทันสมัย เมื่อผ่านกระบวนการดูแลรักษาทั้งหมดมาสู่การประเมินในท้ายที่สุดแล้ว คนไข้ก็จะได้กลับบ้านไปพร้อมกับลูกอย่างปลอดภัย

ที่มา : นพ.สุระ โฉมแฉล้ม  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น