วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การตั้งครรภ์ไม่มีตัวเด็ก




ความสุขทางโลกบางครั้งเป็นเพียงความสุขชั่วคราว ที่เวียนผ่านมาแล้วผ่านไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์เราตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษนั่นคือการมีทายาทไว้สืบสกุล นำมาซึ่งความสุขของผู้ให้กำเนิด รวมถึงบรรดาญาติมิตรสหาย แต่บางครั้งความปลาบปลื้มยินดีต้องจบลงอย่างรวดเร็วด้วยภาวะ ที่เรียกว่า การตั้งครรภ์ไม่มีตัวเด็ก
           การตั้งครรภ์ไม่มีตัวเด็ก (Anembryonic Pregnancy) หรือที่รู้จักกันว่า ท้องลม, ท้องหลอกถือเป็นความผิดปกติแบบหนึ่งของการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดมาจากการปฏิสนธิที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้การสร้างเซลล์ต่างๆ นั้นไม่ครบถ้วน สาเหตุที่แท้จริงไม่สามารถระบุได้ ภาวะนี้จึงเกิดขึ้นได้กับหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นวัยทีน หรือวัยทำงาน 
            หญิงที่พบภาวะนี้จะมีอาการเหมือนหญิงตั้งครรภ์ปกติทั่วไป นั่นคือ ประจำเดือนขาด แพ้ท้อง เมื่อตรวจการตั้งครรภ์ในช่วงแรกก็พบว่าตั้งครรภ์ ซึ่งการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็กนี้จะดำเนินไปจนอายุครรภ์ผ่านไป 2-3 เดือนก็จะเข้าสู่ภาวะหยุดการเจริญเติบโต และเกิดการแท้งในที่สุด


             ภาวะการตั้งครรภ์ไม่มีตัวเด็กนี้ สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์อ่อนๆ ประมาณในช่วง 6-7 สัปดาห์ โดยการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะทราบได้ว่ามีการตั้งครรภ์จริงในมดลูกหรือไม่ หากพบภาวะการตั้งครรภ์ไม่มีตัวเด็กจะมีเพียงแต่ถุงการตั้งครรภ์ ไม่พบตัวเด็กอยู่ภายใน หรือในบางกรณีอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการนำ เช่น ปวดหน่วงท้องน้อย เลือดออกทางช่องคลอด เมื่อทำการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ ก็สามารถพบภาวะดังกล่าวได้เช่นกัน 
               เนื่องจากภาวะนี้เกิดจากกระบวนการสร้างเซลล์ที่ไม่สมบูรณ์ จึงเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงหรือแก้ไขให้กลับมาสมบูรณ์ไม่ได้ แนวทางการรักษาหากพบภาวะตั้งครรภ์ไม่มีตัวเด็กจึงจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ รอความพร้อมเพื่อเริ่มตั้งครรภ์ครั้งใหม่ 
               ในปัจจุบันพบหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้อยู่บ่อยครั้ง จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่แพทย์ต้องสร้างความเข้าใจและยอมรับให้กับหญิงตั้งครรภ์และญาติๆ หลายครั้งพบว่าหญิงตั้งครรภ์เกิดภาวะซึมเศร้าตามมา การดูแลภาวะจิตใจจึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ การให้กำลังใจกันระหว่างคู่สมรส จึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมไปถึงสุขภาพกายที่สดชื่น สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เครียดจนเกินไป และเข้ารับคำปรึกษาสภาวะการตั้งครรภ์จากสูตินรีแพทย์ก็จะมีโอกาสกลับมาประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ครั้งต่อๆ ไปได้ 



ที่มา นพ.สุระ โฉมแฉล้ม  สูตินรีแพทย์ ศูนย์สุภาพสตรี รพ.เปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน

      :  คมชัดลึกออนไลน์ http://www.komchadluek.net/detail/20140731/189213.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น