วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

4 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ต้องระวัง



โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ชื่อของโรคก็บ่งบอกให้ทราบอย่างชัดเจนแล้วใช่ไหมละคะว่า หากมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ป้องกัน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โรคนี้สามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่แบ่งแยกชนชั้นค่ะ แต่ก่อนที่จะไปทำความรู้จักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เรามารู้จักกับสาเหตุของการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

1. เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ไวรัสบางชนิดไม่มียารักษา บางชนิดยังสามารถฝังตัวอยู่และกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
2. เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ
3. เกิดจากเชื้ออื่นๆ เช่น พยาธิ สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นมีเยอะมากค่ะ แต่วันนี้เรามีเลือก 4 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทั้งสาวๆ และหนุ่มๆ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ มาฝากกัน

1. โรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิส เกิดจากเชื้อทรีโพนีมา พัลลิดุม (Treponema pallidum) มีรูปร่างคล้ายกับเกลียวสว่านใหญ่กว่าเชื้อแบคทีเรียทั่วไป โรคซิฟิลิสสามารถเกิดขึ้นได้กับเพศชายและเพศหญิง และเป็นได้ทุกแห่งของร่างกาย ไม่เฉพาะแต่ที่อวัยวะสืบพันธุ์เท่านั้น แม้แต่ตามลิ้น มือ แขน ขา รวมทั้งระบบประสาท หัวใจ เส้นเลือด ตา กระดูก ฯลฯ ก็เป็นได้หมดค่ะ ในบางรายกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ก็เป็นไปมากแล้วก็มีค่ะ

ลักษณะอาการ
ระยะที่ 1 จะมีแผล เรียกว่า แผลริมอ่อน มีลักษณะเป็นวงกลมขนาดเล็ก นิ่ม มีขอบแผลนูนแข็ง แต่จะไม่มีอาการคันหรือเจ็บแต่อย่างใด แผลริมอ่อนจะเกิดขึ้นบริเวณเยื่อมูกของอวัยวะเพศ บนผิวหนัง ในปากหรือริมผีปาก ในผู้หญิงอาจเป็นโรคซิฟิลิสโดยไม่รู้ตัว เพราะจะพบแผลในบริเวณปากมดลูกหรือบริเวณช่องคลอด ซึ่งมองไม่เห็นและไม่รู้สึก ในระยะนี้ แผลจะหายเองได้แม้ปล่อยให้ทิ้งไว้โดยไม่รักษา แต่เชื้อซิฟิลิสจะยังคงอยู่ในร่างกาย
ระยะที่ 2 เชื้อจะเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ แล้วเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ในบางรายจะปรากฏอาการผื่นขึ้นตามตัวที่เรียกกันว่า "ออกดอก" ผื่นมีสีแดงหรือจุดสีน้ำตาลแดง ผื่นนี้มีลักษณะต่างกับผื่นลมพิษหรือการแพ้สารต่างๆ คือ ไม่มีอาการคัน และอาจปรากฏที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าด้วย แต่บางครั้งอาจไม่มีผื่นขึ้นเลย แต่จะเกิดอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามข้อ ผมร่วง ฯลฯ การตรวจเลือดจะพบการเปลี่ยนแปลงที่แสดงปฏิกิริยาให้ผลบวกของน้ำเหลืองสูงมาก ถ้ายังปล่อยละเลยทิ้งไว้ ไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ โรคจะสงบอยู่ระยะหนึ่ง ระยะนี้เชื้อโรคจะหลบอยู่ตามอวัยวะต่างๆ แต่ก็ยังไม่ปรากฏอาการ เรียกว่า ระยะแฝง ซึ่งจะทราบผลได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น
ระยะที่ 3 การเปลี่ยนจากระยะที่ 2 เข้าสู่ระยะที่ 3 อาจกินเวลานานหลายปี แต่ในระยะนี้ผู้ป่วยจะได้รับความทุกข์ทรมานด้วยอาการของหลายระบบในร่างกาย อาทิเช่น บนผิวหนังจะมีก้อนนูน แตกเป็นแผลเหวอะหวะ ซึ่งจะกลายเป็นแผลเป็นทำให้เสียโฉม จมูกโหว่ กระดูกผุ อาจหูหนวก ตาบอด สติปัญญาเสื่อม สมองพิการจนถึงขั้นอัมพาต หรืออาจเป็นบ้าก็ได้ ที่สำคัญอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ถ้าโรคซิฟิลิสเกิดขึ้นที่หัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว หัวใจวาย เส้นเลือดหัวใจโป่งพอง นอกจากนี้ ในสตรีที่ตั้งครรภ์ ถ้าเป็นซิฟิลิส เชื้อซิฟิลิสจะถ่ายทอดผ่านทางรก ทำให้ทารกป่วยด้วยโรคนี้ โดยทารกอาจตายในครรภ์หรือถ้าหากคลอดออกมาแล้ว อาจจะพิการตลอดชีวิต

การรักษา
ทันทีที่สงสัยว่าเป็นโรคซิฟิลิส ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบปัสสาวะ หรือแพทย์โรคผิวหนังตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว อาหารหรือการรักษาด้วยตัวเองไม่สามารถรักษาโรคซิฟิลิสให้หายขาดได้ ยาต่างๆ ที่ใช้รักษาควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ในช่วงระยะที่ 1 ของโรค หลังจากได้รับยาแล้ว แพทย์ระบุว่าโรคซิฟิลิสหายแล้ว ผู้ป่วยยังต้องมาพบแพทย์ทุกๆ 3 เดือน เพื่อตรวจหาเชื้อโรคซิฟิลิสที่อาจจะแอบแฝงอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าหายขาดแล้ว ระหว่างการรักษาโรคซิฟิลิส ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด งดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น


โรคซิฟิลิสเมื่อหายแล้วจะกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่
โรคซิฟิลิสเมื่อรักษาหายแล้วยังสามารถกลับมาเป็นได้อีก หากผู้ป่วยอยู่ในความเสี่ยงหรือปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ทำให้กลับมาติดโรคซิฟิลิสได้อีกครั้ง ดังนั้นหากรู้ตัวว่ามีความเสี่ยง หรือมีแบบสัมพันธ์แบบเสี่ยง ควรตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเข้าสู่การรักษาขั้นต่อไป

2. โรคหนองใน

ลักษณะอาการ
ลักษณะของโรคหนองใน ในเพศชายและเพศหญิงมีการแสดงออกของอาการที่แตกต่างกัน
ในเพศชาย เริ่มด้วยอาการขัดเบา เจ็บแสบท่อปัสสาวะทุกครั้งที่ปัสสาวะ ที่ปลายอวัยวะเพศตรงบริเวณปากท่อปัสสาวะจะอักเสบแดงและมีหนองไหลเยิ้ม บางครั้งจะมีหนองข้นจนคล้ายเส้นขนมจีน หนองจะไหลอยู่ประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ ถ้าไม่ได้รับการรักษา หนองก็จะเริ่มลดน้อยลง แต่อาการอักเสบเวลาถ่ายปัสสาวะยังคงมีอยู่ หากปล่อยปละละเลยอาจกลายเป็นหนองในเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองจะบวมเจ็บ ปวดตามข้อ บางรายมีผื่นคันขึ้นตามตัว
ในเพศหญิง อาจจะไม่มีอาการอะไรเลย หรือมีแต่เพียงอาการแสบเวลาปัสสาวะ บางรายอาจจะมีหนองไหลออกมาแต่มักคิดตัวเองว่าตกขาว ส่วนใหญ่อาการในผู้หญิงจะน้อยกว่าในผู้ชายมากจนทำให้หลายคนไม่คิดว่าเป็นโรคนี้ จึงอาจส่งผลลุกลามต่อไป เช่น อักเสบในอุ้งเชิงกราน ทำให้ปีกมดลูกอักเสบ มดลูกอักเสบ ปวดมดลูก ช่องท้องอักเสบ รังไข่อักเสบ ปวดเมื่อยหลัง ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีไข้

การรักษา
คุณสาวๆ และหนุ่มๆ สามารถเข้ารับการตรวจดูได้ว่าเราเป็นโรคหนองในหรือไม่ โดยนำปัสสาวะหรือหนองไปตรวจ หรือนำไปเพาะเชื้อ เนื่องจากผู้ที่ป่วยโรคหนองในแล้วมักจะเป็นโรคหนองในเทียมร่วมด้วย จึงควรทำการรักษาทั้งสองโรคไปพร้อมกันโดยรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างครบถ้วน เพราะเชื้ออาจมีการดื้อยามากขึ้น และเช่นเดียวกับโรคซิฟิลิส โรคหนองในเมื่อรักษาหายแล้วอาจกลับมาเป็นได้อีก และที่สำคัญเมื่อเป็นโรคหนองในแล้ว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นกับร่างกาย จึงไม่ควรนิ่งนอนใจต่อโรคนี้กันนะคะ หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป

3. โรคหนองในเทียม
โรคหนองในเทียม เกิดจากเชื้อคลามีเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) นอกจากนี้ยังมีเชื้อยูเรียพลาสมา ยูเรียไลทิคุม (Ureaplasma urealyticum) ด้วย

ลักษณะอาการ
มักจะมีอาการแสบหรือรู้สึกขัดเวลาถ่ายปัสสาวะและมีหนองใสๆ บางรายมีอาการคันในท่อปัสสาวะ หรือมีรอยแดงๆ บริเวณปากท่อปัสสาวะ มักมีหนองไหลในตอนเช้าๆ และเช่นเดียวกับโรคหนองใน คือในเพศหญิงมักจะไม่แสดงอาการเท่าเพศชาย นอกจากนี้ถ้ามารดามีเชื้อที่บริเวณปากมดลูก ทารกที่คลอดผ่านออกมาจะได้รับเชื้อเข้าตา ทำให้เกิดตาอักเสบในระยะแรกคลอด และหากทารกไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดโรคกับอวัยวะระบบอื่นได้ เช่น ปวดบวม
การรักษา
เมื่อพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคนี้จะต้องให้ยารักษาจนครบกำหนด และแนะนำให้คู่สมรสมาตรวจรักษาด้วย ในระยะที่มีอาการควรงดการมีเพศสัมพันธ์และการใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันโรคได้
4. โรคเอดส์
โรคเอดส์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า เอชไอวี (HIV - human immunodeficiency virus) ซึ่งจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ที่เป็นโรคเอดส์เสื่อมลง ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้
ลักษณะอาการ
อาการของโรคเอดส์เกิดจากมีเชื้อโรคอื่นๆ ฉวยโอกาสจากร่างกายของผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง อาการแสดงมีหลายรูปแบบด้วยกันคือ อาการทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วงแบบเป็นๆ หายๆ ติดต่อกัน อาการทางระบบ ประสาทส่วนกลาง มีไข้ไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซูบผอม อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต หรือในบางรายอาจพบว่ามีมะเร็งบางชนิดเกิดขึ้นก็ได้
การติดต่อ
เชื้อไวรัสของโรคเอดส์จะอาศัยอยู่ในเลือด น้ำอสุจิ และน้ำลายของผู้ป่วย การติดต่อส่วนใหญ่ติดต่อกันโดยการร่วมเพศกับผู้ป่วย และพบมากในกลุ่มรักร่วมเพศ (homosexual) นอกจากนี้ อาจเกิดการติดต่อของโรคผ่านทางการรับเลือดจากผู้ป่วย การใช้เข็มฉีดยาที่สกปรกร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดยาเสพติดที่ต้องฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด เชื้ออาจเข้าทางแผลในปาก โดยการจูบกับผู้ป่วย และถ้ามารดาป่วยก็สามารถถ่ายทอดเชื้อนี้ไปสู่ทารกในครรภ์ได้
การป้องกันและควบคุมโรค
1. หลีกเลี่ยงการร่วมเพศกับผู้ป่วยหรือสงสัยว่าป่วย หรือที่อยู่ในแวดวงใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์
2. หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาเข้าเส้นร่วมกันในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด
3. หลีกเลี่ยงการจูบปากกับผู้ที่สงสัยว่าป่วยเป็นโรคเอดส์
4. ผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเอดส์ ห้ามบริจาคหรือให้เลือดกับผู้อื่น

ที่มา : บทความความรู้ทางการแพทย์ จากโรงพญาบาลพญาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น